มีความเชื่อคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำหมันแมวและหมา ที่เจ้าของมักมาสอบถามหมอบ่อย ๆ เช่น หลายคนเชื่อว่า ควรปล่อยให้สุนัขหรือเเมวเพศเมียมีลูกไปก่อนซักคอกจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนขึ้น และลดการเป็นมะเร็งเต้านม หรือบางคนมีความเชื่อว่า การทำหมันตัวผู้ตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้ขนาดของอวัยวะเพศเล็กลงไป และส่งผลต่อการขับถ่ายปัสสาวะได้ เจ้าของบางท่านจึงมักรอให้สัตว์ถึงวัยเจริญพันธ์ุ หรือบางคนรอให้สัตว์เลี้ยงมีลูกผ่านไปอย่างน้อย 1 คอกก่อน จึงนำมาทำหมันกับสัตวแพทย์
ความเชื่อเหล่านี้จริงเท็จแค่ไหน??? บทความนี้หมอจะมาอธิบายให้ฟัง รวมถึงบอกเล่าข้อดีข้อเสียของการทำหมันเมื่อเทียบกับการฉีดยาคุม และความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดทำหมัน
การทำหมันแมวและหมา คืออะไร
การทำหมัน คือ การผ่าตัดเพื่อนำเอาบางส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ออกไป ทั้งนี้เพื่อให้สัตว์ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรใหม่ได้ โดยเราจะแบ่งออกเป็น
- การทำหมันในสัตว์เลี้ยงเพศผู้ คือ การผ่าตัดเพื่อนำเอาอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง รวมถึงมีการเอาบางส่วนของท่อนำอสุจิออกไปด้วย ทำให้ตัวผู้ไม่มีอสุจิในการสืบพันธุ์ต่อได้อีก นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศผู้ที่ถูกสร้างจากอัณฑะเป็นหลักก็จะค่อย ๆ ลดลงไป ทำให้พฤติกรรมทางเพศ เช่น การต่อสู้แย่งชิงความเป็นผู้นำ หรือพฤติกรรมก้าวร้าวต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมถูกทำให้ลดลงไปด้วย
- การทำหมันในสัตว์เลี้ยงเพศเมีย คือ การตัดรังไข่และปีกมดลูกออกทั้ง 2 ข้าง ทำให้ไม่พบลักษณะการเป็นสัดและไม่สามารถตั้งท้องได้อีก
ทำไมเราจึงควรพิจารณาทำหมันแมวและหมา
สำหรับสัตว์เลี้ยงเพศเมีย การทำหมันจะช่วยลดโอกาสในการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งที่เต้านมได้ รวมถึงลดโอกาสของการเกิดมดลูกอักเสบอีกด้วย ข้อดีอีกอย่างของการทำหมันตัวเมีย คือ เราสามารถควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ได้ เพราะในแต่ละครั้งของตั้งท้อง สัตว์เลี้ยงมีโอกาสให้ลูกต่อคอกได้ 1-3 ตัวขึ้นไป
ส่วนการทำหมันในสัตว์เลี้ยงเพศผู้ นอกจากจะช่วยลดโอกาสของการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งที่ลูกอัณฑะแล้ว ยังลดโอกาสในการเกิดภาวะต่อมลูกหมากโตได้อีกด้วย สำหรับพฤติกรรมดุก้าวร้าวในสัตว์ตัวผู้ เจ้าของจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น น้องจะลดการทะเลาะกันมากขึ้น อยู่ติดบ้านมากขึ้น รวมถึงลดพฤติกรรมการปัสสาวะเพื่อแสดงอาณาเขตในบริเวณที่อยู่อาศัยด้วย ในสุนัขเพศผู้บางตัวเจ้าของยังพบได้ว่า พฤติกรรมที่เคยแสดงในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เช่น ส่งเสียงเห่าโวยวายและไม่กินอาหาร เมื่อทำหมันแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะหายไปเช่นกัน
การทำหมันหมาแมว ดีกว่าฉีดยาคุมกำเนิดมั้ย
การทำหมันดีกว่าและปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าการฉีดยาคุมกำเนิด แม้ว่ายาคุมกำเนิดจะมีข้อดีอยู่บ้าง คือ หาซื้อได้ง่ายและราคาถูก เมื่อเทียบกับการพาสัตว์เลี้ยงมาทำหมันที่โรงพยาบาล แต่เมื่อเทียบกับอันตรายที่เกิดจากการใช้ยา และความเสี่ยงที่น้องหมาน้องแมวจะต้องเจอกับภาวะคลอดไม่ออก หากเจ้าของบังเอิญฉีดยาคุมในจังหวะที่สัตว์ได้รับการผสมพันธุ์ไปแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจากภาวะคลอดยากนี้ อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การฉีดยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีโอกาสเป็นมดลูกอักเสบและเนื้องอกที่เต้านมได้อีกด้วย
ข้อเสียอีกอย่างของการใช้ยาคุมกำเนิด คือ เจ้าของจะต้องมีการจดบันทึกรอบการฉีดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงแสดงอาการเป็นสัด และเผลอผสมพันธุ์จนเกิดการตั้งท้องขึ้นมา ซึ่งหลายครั้งพบว่าเจ้าของลืมบันทึกรอบการฉีดยาคุมเอาไว้ ดังนั้นการเลือกวิธีพาน้องไปทำหมันจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวทั้งหมด อย่างไรก็ตามเจ้าของบางคนอาจมีความกังวลใจในเรื่องการผ่าตัด เช่น กลัวสัตวแพทย์วางยาสลบแล้วน้องหมาน้องแมวจะไม่ฟื้น ซึ่งจริง ๆ แล้วในปัจจุบันขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้มีความปลอดภัยสูงมาก โดยก่อนการผ่าตัดสัตวแพทย์จะมีการตรวจเช็คสุขภาพของสัตว์เลี้ยงทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการวางยาสลบและผ่าตัดทำหมัน
เมื่อไหร่ควรพาสัตว์เลี้ยงไปทำหมัน
หากเจ้าของต้องการทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยง อายุที่หมอแนะนำให้เริ่มต้นพิจารณา คือ ประมาณ 5-6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่สัตว์มีกระบวนการโตเต็มวัยสมบูรณ์แล้ว (Sexual maturity)
การทำหมันแมวและหมาที่อายุเยอะ เสี่ยงชีวิตมั้ย
สำหรับสัตว์เลี้ยงที่อายุมาก เช่น ประมาณ 8-10 ปี หากต้องการทำหมันก็ยังสามารถทำได้ โดยให้ปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพสัตว์ในเบื้องต้น เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูความพร้อมในการวางยาสลบ ซึ่งในปัจจุบันนี้แนวทางการผ่าตัดจะนิยมใช้การดมยาสลบ โดยวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง
ข้อควรระวังที่เจ้าของต้องรู้ ภายหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดทำหมัน
- ให้ระวังอุบัติเหตุจากการตะกุยไปมาของสัตว์ หลังการผ่าตัด เมื่อเจ้าของนำสัตว์เลี้ยงกลับมาดูแล ให้พาสัตว์เลี้ยงไปนอนพักในห้องที่มิดชิด ไม่มีสัตว์อื่นเข้ามารบกวน และในช่วงแรกของการพักฟื้น สัตว์เลี้ยงมักมีภาวะที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากฤทธิ์ของยาสลบ ดังนั้นต้องระมัดระวังการบาดเจ็บจากการตะกุยไปมา
- วางน้ำไว้ใกล้ ๆ บริเวณที่นอนของสัตว์เลี้ยง เพื่อให้สัตว์สามารถลุกขึ้นมาเลียน้ำกินเองได้ เมื่อยาสลบหมดฤทธิ์ลงไปแล้ว (โดยปกติฤทธิ์ของยาสลบมักอยู่ประมาณ 24 ชม. ) หลังจากสัตว์ฟื้นตัวแล้ว ให้ควบคุมปริมาณน้ำที่กิน อย่าให้มากจนเกินไป แต่ให้ในปริมาณน้อย ๆ และบ่อยครั้ง
- อาหารมื้อแรกหลังผ่าตัด แนะนำให้เพียงครึ่งนึงของปริมาณปกติที่สัตว์เลี้ยงเคยได้รับ จากนั้นสามารถปรับปริมาณน้ำและอาหารมาเป็นปริมาณปกติในวันรุ่งขึ้นได้
- หมั่นดูแลทำความสะอาดแผลผ่าตัด อย่าให้แผลเปียกน้ำและสกปรก ในแมวให้ขยันเปลี่ยนทำความสะอาดกระบะทรายซึ่งเป็นที่ขับถ่ายประจำของแมว
- การปัสสาวะหลังผ่าตัดพบว่าวันแรกอาจมีเลือดปนได้ แต่หลังจากนั้นสัตว์เลี้ยงจะเริ่มกลับมาปัสสาวะเป็นสีปกติ ส่วนการถ่ายอุจจาระก็เช่นกัน อาจพบปัญหาท้องผูกในวันแรก ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะกลับมาเป็นปกติใน 24 ชม. แต่หากพบว่ามีการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีอุจจาระเหลว หรือท้องผูกต่อเนื่องเกิน 24 ชม. ควรรีบทำการปรึกษาสัตวแพทย์ที่ทำการผ่าตัดโดยด่วน
- พาสัตว์ไปตัดไหมหลังจากทำหมันประมาณ 7-10 วัน โดยสัตวแพทย์จะทำการตัดไหมที่เย็บไว้ที่แผลผ่าตัด และตรวจดูสภาพแผลอีกครั้ง
สรุปการทำหมันแมวและหมา มีข้อดีอย่างไรบ้าง
การทำหมันแมวและหมามีข้อดีเยอะมาก นอกจากจะลดความเสี่ยงของโรคร้ายแล้ว ยังทำให้พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ดีลดลงไปด้วย ดังนี้
ข้อดีของการทำหมันหมาแมวในเพศผู้
- นิสัยบางอย่าง เช่น ก้าวร้าว ต่อสู้แย่งชิง ขึ้นขี่กันเพื่อข่มขู่ในเพศผู้ด้วยกัน ถ่ายปัสสาวะไม่เป็นที่ในแมว การหนีออกจากบ้านในฤดูผสมพันธุ์ และการต่อสู้กับตัวอื่นเพื่อต้องการแย่งชิงตัวเมีย พฤติกรรมเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปภายหลังการทำหมันซักระยะนึง
- การทำหมันจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศจากการผสมพันธุ์ เช่น โรคมะเร็งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์กัน (Transmissible Venereal Tumour) และการทำหมันยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดต่อมลูกหมากโตในสุนัขเพศผู้อีกด้วย
ข้อดีของการทำหมันหมาแมวในเพศเมีย
- ช่วยป้องกันสัตว์เลี้ยงแอบผสมพันธุ์กัน จนมีลูกออกมามากมายโดยที่เจ้าของอาจจะไม่อยากได้
- ช่วยป้องกันการเกิดมดลูกอักเสบ
- ช่วยป้องกันปัญหาเนื้องอกหรือมะเร็งที่เต้านมในสัตว์สูงวัย ซึ่งจากสถิติพบว่าเมื่อน้องหมาน้องแมวทำหมันแล้ว จะลดโอกาสการเกิดเนื้องอกเต้านมถึงร้อยละ 3.4 ในสุนัข และ 2.5 ในแมว
- ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์กัน (Transmissible Venereal Tumour) และโรคแท้งติดต่อในสุนัข ส่วนในแมวโรคสำคัญที่มากับการผสมพันธุ์ ได้แก่ โรคเอดส์แมว ลิวคีเมียในแมว ( ที่ติดต่อผ่านทางน้ำลายและบาดแผลเป็นหลัก ) ซึ่งปัญหาจะลดลงไปเมื่อสัตว์ได้รับการทำหมัน
สรุปการทำหมันแมวและหมา มีข้อเสียอย่างไรบ้าง
การทำหมันแมวและหมามีข้อเสียบางอย่างเช่นกัน แต่เป็นความเสี่ยงที่เจ้าของสามารถเฝ้าระวังและแก้ไขได้ เช่น กลุ่มโรคดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีความน่าจะเป็นในการเกิดขึ้นหลังการทำหมัน
การทำหมันแมวและหมา มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน
การทำหมันเป็นปัจจัยนึงที่โน้มนำให้เกิดโรคอ้วนง่ายขึ้นในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในแมวเพศเมีย เนื่องจากอัตราการเผาผลาญที่ต่ำลงเพราะการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตามเราสามารถควบคุมโรคอ้วนได้ ด้วยการจำกัดชนิดและปริมาณของอาหาร รวมถึงชวนน้องไปออกกำลังกายให้มากขึ้น
การทำหมันแมวและหมา มีผลต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง
ปัญหาปัสสาวะเล็ดในสุนัขถูกเชื่อว่าเป็นผลมาจากการทำหมัน เนื่องจากทำให้สัดส่วนปริมาณกล้ามเนื้อและคอลลาเจนในกระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะของสุนัขเปลี่ยนแปลงไป ในสุนัขเพศเมียจะพบปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ร้อยละ 10-20 หลังการทำหมัน แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ โน้มนำให้เกิดได้อีก เช่น น้ำหนักตัวของสุนัขที่มาก สายพันธุ์ขนาดใหญ่ และอายุสุนัขที่ทำหมัน จากข้อมูลพบว่าสุนัขเพศเมียที่ทำหมันก่อนอายุ 3 เดือนมีความเสี่ยงของภาวะปัสสาวะเล็ดหลังทำหมันได้
การทำหมันแมวและหมา มีผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
ผลเสียของการทำหมัน จะพบได้ในสุนัขบางสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมของโรคทางข้อต่ออยู่แล้ว เช่น สุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ และลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ที่มักพบปัญหาโรคข้อสะโพกเสื่อม และเอ็นไขว้ข้างหน้าหัวเข่าฉีกขาดเมื่ออายุมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้จะมีอายุของการทำหมันมาเกี่ยวข้องด้วย คือ ถ้าทำหมันในช่วงอายุน้อยกว่า 6 เดือน พบว่าสุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์จะมีโอกาสในการเกิดโรคข้อต่อมากกว่ากลุ่มที่ไม่ทำหมัน 4-5 เท่า ส่วนในลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับตัวที่ไม่ได้ทำหมัน
อย่างไรก็ตามเมื่อทำหมันสุนัขที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป พบว่าความเสี่ยงของการเกิดโรคทางข้อต่อไม่มีความแตกต่างกันกับสุนัขที่ไม่ได้ทำหมัน ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าสำหรับสุนัขโดยเฉพาะสายพันธุ์ขนาดใหญ่ ควรรอให้ถึงวัยเจริญพันธุ์ก่อนค่อยทำหมัน จะส่งผลดีกว่าในแง่ของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
การทำหมันมีผลต่อโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในแมว
ปกติแล้วความเสี่ยงของโรคเบาหวานในสุนัขและแมวทั่วไป ที่ไม่ได้ทำหมันจะพบได้ประมาณร้อยละ 5 แต่สำหรับในแมวที่ทำหมันแล้ว กลับพบความเสี่ยงของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2-9 เท่า อาจเป็นไปได้ว่าโรคเบาหวานที่พบมากขึ้นหลังทำหมันเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ซึ่งมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ลดลง ดังนั้นหากเราสามารถควบคุมน้ำหนักของแมวได้ โรคเบาหวานที่เกิดจากความเสี่ยงของการทำหมันอาจไม่ต่างจากแมวทั่ว ๆ ไปที่ไม่ทำหมันเลยก็ได้
แม้การทำหมันจะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่ก็มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่าสุนัขและแมวควรได้รับการทำหมัน เพราะจะช่วยให้อายุยืนยาวกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทำ โดยเฉพาะในสุนัขเพศเมียและแมวเพศผู้ที่การทำหมันจะช่วยลดปัญหาการเกิดโรคในระบบสืบพันธุ์ได้ นอกจากนี้การทำหมันยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงและช่วยลดจำนวนสัตว์จรจัด ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการไม่คุมกำเนิดในสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสมนั่นเอง ดังนั้นหากพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียซึ่งมีโอกาสเกิดได้บ้างในบางสายพันธุ์ การเลือกวิธีการทำหมันจึงเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมมากกว่าการใช้ยาคุมกำเนิด
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: แมวและสุนัขท้องเสียแบบไหน ควรรีบพาไปพบหมอด่วน
แหล่งอ้างอิง: ข้อดีและข้อเสียของ การทำหมันสุนัขและแมว
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์