จากบทความก่อนหน้านี้หมอได้พูดถึง 10 สาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงท้องเสีย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเรา บทความนี้หมอจะแนะนำ 8 วิธีป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงท้องเสียกันครับ
1. จัดโปรแกรมฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิให้ถูกต้อง
โรคไวรัสบางชนิดในสัตว์เลี้ยง เช่น โรคลำไส้อักเสบในสุนัข หรือโรคไข้หัดในแมว เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่น้องจะป่วยจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของโรค การฉีดวัคซีนตามโปรแกรมที่คุณหมอแจ้งจะช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงแสดงอาการป่วยที่รุนแรงได้
การถ่ายพยาธิก็สำคัญเช่นกัน แนะนำให้ทำเป็นโปรแกรมทุก ๆ 3 เดือน เพื่อตัดวงจรของพยาธิที่จะก่อปัญหากับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวที่ชอบล่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ มาเล่นหรือกิน และเจ้าของที่นิยมให้อาหารสัตว์ประเภท BARF(เนื้อสัตว์ดิบ)
2. คลุกอาหารก่อนเปลี่ยนสูตรทุกครั้ง
กรณีเจ้าของต้องการเปลี่ยนยี่ห้อหรือสูตรอาหาร อย่ารีบเปลี่ยนทันที!! เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารของสัตว์ปรับตัวไม่ทันเกิดภาวะท้องเสียได้ แนะนำให้ค่อย ๆ เปลี่ยนอาหารโดยการคลุกอาหารเก่าและใหม่เข้าด้วยกันในอัตราส่วน 50:50 เป็นเวลา 4-5 วัน เพื่อให้ทางเดินอาหารของสัตว์เกิดการปรับตัวเข้ากับอาหารใหม่ก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารชนิดใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้เปลี่ยนอาหารบ่อย ๆ เพราะนอกจากสัตว์เลี้ยงจะมีโอกาสท้องเสียแล้ว ยังอาจทำให้ลำใส้เกิดการแปรปรวนจนทำให้เกิดภาวะแพ้อาหารได้ (Food allergy)
3. จัดโปรแกรมการกินอาหารและขับถ่ายที่ตรงเวลา
หากมีการเลี้ยงสัตว์ในบ้านหรือคอนโด ควรมีตารางเวลาพาน้องออกไปวิ่งเล่นขับถ่ายที่แน่นอนและสม่ำเสมอ การมีโปรแกรมให้อาหารและขับถ่ายจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารของสัตว์ทำงานได้ดี ลดปัญหาท้องผูกหรืออาหารไม่ย่อย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการท้องเสียได้เช่นกัน
4. ให้อาหารที่มีมาตรฐานดี ๆ
การเลือกซื้ออาหารสัตว์ควรดูฉลากข้างถุงทุกครั้ง อาหารสัตว์ที่ได้รับมาตรฐานจะมีเลขทะเบียนอาหารสัตว์ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต และมีการแจ้งส่วนประกอบสำคัญของวัตถุดิบในอาหาร การเลือกซื้ออาหารที่มีข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าของมั่นใจในคุณภาพการผลิต ซึ่งถูกควบคุมปัญหาสารพิษหรือการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุให้สัตว์เลี้ยงท้องเสียได้ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ซื้ออาหารแบบแบ่งขาย แม้ว่าจะเป็นยี่ห้อที่ได้รับมาตรฐานก็ตาม เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการเสื่อมคุณภาพได้
5. ควรเก็บถุงอาหารที่เปิดแล้วให้เหมาะสม
อาหารสำเร็จเมื่อเปิดปากถุงแล้วมักพบว่ากลิ่นจะค่อย ๆ ลดลงไป ทำให้ความน่ากินของอาหารต่ำลง ดังนั้นแนะนำกรณีเจ้าของซื้ออาหารถุงเล็ก (น้อยกว่า 5 กิโลกรัม) เมื่อเปิดปากถุงแล้วให้ตักอาหารส่วนที่เหลือออกใส่กล่องหรือภาชนะเล็ก ๆ ที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันความชื้นและคงความน่ากินของอาหาร แต่กรณีซื้ออาหารถุงใหญ่ ต้องมีการพับปากถุงให้สนิทหรือใช้ไม้หนีบปิดปากถุง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปรวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดความชื้นและคงกลิ่นของอาหารเอาไว้ด้วย
ไม่แนะนำให้วางอาหารทิ้งไว้ในถาดอาหารสัตว์ข้ามคืน เพราะมีโอกาสที่อาหารจะเน่าเสียและปนเปื้อนเชื้อโรคเสี่ยงต่อการท้องเสียได้ สำหรับอาหารกระป๋องหรืออาหารซองหากน้องหมาน้องแมวกินไม่หมด ควรมีการจัดเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดเรียบร้อยและนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น
6. ระวังการเก็บกินเศษอาหารตามพื้นดิน
บางครั้งน้องหมาน้องแมวก็มักซุกซนชอบเลียกินของแปลก ๆ ตามพื้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาท้องเสียตามมา ดังนั้นเจ้าของจึงควรเฝ้าสังเกตการขับถ่ายของสัตว์ หากพบว่าอึน้องมีสีเปลี่ยนไปหรือมีความเหลวมากขึ้น (อุจจาระที่ดีเป็นอย่างไร อ่านได้ที่บทความนี้ วิธีสังเกตอย่างไรหากสัตว์เลี้ยงมีอาการท้องเสีย) ควรติดตามอาการของน้องอย่างต่อเนื่อง หรือตัดสินใจพาน้องไปพบสัตว์แพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค
7. ตรวจสอบอาหารที่มีอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง
กระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การให้หมูปิ้งพร้อมไม้เสียบ สามารถทำให้สัตว์เกิดปัญหาในระบบย่อยอาหารได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันท่อทางเดินอาหาร และในบางกรณีมีการแทงทะลุลำไส้ออกมาจนทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ การสังเกตความผิดปกติบางอย่างของสัตว์เลี้ยง เช่น หยุดกินอาหาร หน้าท้องแข็งเกร็ง หรือท่านอนขดตัว จะช่วยให้เจ้าของรับรู้ปัญหาบางอย่าง และตัดสินใจพาสัตว์มาโรงพยาบาลได้ทันท่วงที
8. ไม่ควรปล่อยให้สัตว์ท้องเสียเรื้อรัง
ถ้าสัตว์เลี้ยงถ่ายอุจจาระเหลวต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักพบปัญหาการหลุดลอกของผนังลำไส้ส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหาร (Villi) ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ร่างกายของสัตว์ผอมลงได้ ดังนั้นหากพบอึของน้องหมาน้องแมวมีลักษณะเหลวปนน้ำ มีสีเปลี่ยนไป หรือ ไม่เป็นก้อนเหมือนเดิม ควรรีบตัดสินใจพาน้องไปพบสัตวแพทย์ทันที (อ่านบทความ ถ่ายเหลวแบบไหน ควรตัดสินใจพาสัตว์เลี้ยงไปพบหมอ)
เขียนโดย: เขียนโดย: นสพ. อนรรฆ เกรียงศิริ