เจ้าของสัตว์: หมอคะน้องหมาท้องเสียมา 3 วันแล้วค่ะ เป็นได้จากอะไรคะ ??
หมอ: (หัวเราะแหะ ๆ) ขอหมอตรวจก่อนนะครับ เพราะมันมีได้จากหลายสาเหตุเลย
อาการท้องเสียในสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่เจ้าของมักจะเจอได้บ่อย และต้องการรู้สาเหตุของความผิดปกติเหล่านี้ แต่เนื่องจากมีหลายโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการดังกล่าว ตั้งแต่การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ไปจนถึงการกินอาหารปริมาณมากจนเกินไป หรือแม้แต่มะเร็งลำไส้ก็เป็นสาเหตุของการท้องเสียได้เช่นกัน บทความนี้หมอจะพาทุกคนไปรู้จักกับ 10 สาเหตุฮิต ๆ ที่ทำให้แมวท้องเสีย หรือสุนัขถ่ายเหลวได้
มารู้จักกับ 10 สาเหตุที่ทำให้หมาแมวท้องเสีย
สำหรับเพื่อน ๆ ที่เจอปัญหาน้องถ่ายเหลว แถมมีกลิ่นคาวและอาจพบอึมีเลือดปน ทำให้อุจจาระมีสีดำขึ้นหรือบางครั้งก็ออกเหลืองอมเขียว ก่อนที่เราจะไปหาสาเหตุของการท้องเสีย หมอมีบทความแนะนำที่เคยไว้เขียนก่อนหน้า เกี่ยวกับเรื่อง “สีอึของสัตว์เลี้ยงสามารถบอกถึงสุขภาพได้” กดอ่านที่ลิงค์แนะนำบทความที่น่าสนใจ ด้านล่างนี้เลยครับ
แนะนำบทความที่น่าสนใจ :
1. ท้องเสียจากการกินของแปลกปลอมเข้าไป
บ่อยครั้งที่น้องหมาน้องแมวมักซุกซนชอบหาของแปลก ๆ กิน เช่น แทะเสาไม้ คุ้ยเศษขยะ หรือเคี้ยวถุงพลาสติกเล่น ซึ่งเจ้าของมักเข้าใจว่าสัตว์สามารถย่อยสิ่งเหล่านี้ได้ จนเกิดเป็นความเคยชินปล่อยให้น้องแทะกินอยู่เป็นประจำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าระบบทางเดินอาหารของสัตว์จะมีความสามารถในการย่อยได้ดีกว่าคน แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะสามารถกินได้ โดยเฉพาะของแข็งอย่างกระดูกสัตว์หรือไม้เสียบลูกชิ้นปิ้ง เพราะนอกจากจะมีโอกาสขวางทางเดินอาหารจนทำให้ท้องเสียจากอาหารไม่ย่อยแล้ว ยังเสี่ยงอันตรายจากการแทงจนลำไส้ทะลุได้อีกด้วย
2. ท้องเสียจากการเปลี่ยนอาหารแบบกะทันหัน
สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะลูกแมว จะไวต่อการท้องเสียเมื่อได้รับอาหารที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งอาจเกิดจากเจ้าของเปลี่ยนยี่ห้อให้น้องกิน หรือเปลี่ยนชนิดอาหารจากแห้งเป็นเหลวก็ได้ ปัญหาท้องเสียจากอาหารมักไม่อันตรายเท่ากับกรณีที่มีการติดเชื้อโรค ซึ่งโดยมากเรามักพบการถ่ายเหลวเพียง 1-2 วัน เนื่องจากระบบย่อยยังปรับตัวกับอาหารชนิดใหม่ไม่ทัน แต่เมื่อน้องหมาน้องแมวเริ่มคุ้นชินอาหารแล้ว ปัญหาการถ่ายเหลวก็จะค่อย ๆ หายไป
ข้อแนะนำที่อยากให้เจ้าของทำหากต้องการเปลี่ยนอาหารทันที คือ คลุกอาหารเก่าและใหม่ให้น้องคุ้นชินก่อนทุกครั้ง โดยนำอาหารใหม่ผสมลงไปในปริมาณเล็กน้อยเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารชนิดใหม่ จะช่วยลดปัญหาการถ่ายเหลวผิดปกติได้
3. ท้องเสียจากการแพ้อาหาร หรือ Food Allergy
อาการภูมิแพ้ในสัตว์เลี้ยง มีได้ทั้งจากอาหารชนิดใหม่ที่ไม่เคยกินมาก่อน และจากอาหารชนิดเดิมที่ได้รับเป็นประจำ ลักษณะภูมิแพ้อาหารจะมีได้ด้วยกัน 2 แบบ
- ภูมิแพ้แบบเฉียบพลัน จะเกิดได้บ่อยกับอาหารชนิดใหม่ที่สัตว์ไม่เคยกินมาก่อน ลักษณะอาการที่พบคือ ท้องเสียอย่างรุนแรง ซึม หรือนอนตัวงอเนื่องจากมีอาการปวดท้องร่วมด้วย นอกจากนี้อาจพบผื่นขึ้นตามตัว หรืออาการบวมที่ใบหน้า เป็นต้น
- ภูมิแพ้แบบไม่เฉียบพลัน จะเป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดหลังกินอาหาร มักเกิดจากการกินอาหารเดิมซ้ำ ๆ จนภูมิคุ้มกันในร่างกายเกิดการพัฒนาแบบผิดปรกติขึ้นมา อาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น สัตว์จะท้องเสียแบบเรื้อรัง อึมีลักษณะเละนิด ๆ สัตว์เลี้ยงยังคงร่าเริงเป็นปกติ และไม่มีอาการซึมหรือมีไข้แต่อย่างใด ลักษณะแบบนี้เจ้าของจะสังเกตได้ยาก แต่หากทดลองหยุดอาหารเดิมแล้วทำการเปลี่ยนอาหารให้กับน้อง จะพบว่าอาการแมวหรือสุนัขถ่ายเหลวที่เกิดก่อนหน้าจะค่อย ๆ หายไป
4. ท้องเสียจากการการทนรับอาหารไม่ได้ หรือ Food Intolerance
โรคนี้อาจฟังดูเหมือนกับอาการภูมิแพ้อาหาร แต่จริง ๆ แล้วสาเหตุของการท้องเสียมาจากคนละส่วนกัน การทนรับอาหารไม่ได้ หรือ Food intolerance เกิดจากการที่ร่างกายสัตว์ไม่มีเอนไซม์ หรือน้ำย่อยที่จะมาย่อยอาหารที่สัตว์กินเข้าไป คล้าย ๆ กับคนดื่มนมวัวแล้วท้องเสีย เพราะร่ายกายไม่สามารถย่อยส่วนประกอบในนมวัวได้ จึงเกิดอาการโครกครากและระบายท้องออกมา ดังนั้นเจ้าของควรสังเกตลักษณะอุจจาระของน้อง หากมีความนิ่มเหลวผิดปกติไปหลังจากกินอาหารบางอย่าง อาจเกิดจากการที่ระบบย่อยของน้องไม่สามารถจัดการอาหารนั้น ๆ ได้
5. ท้องเสียจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร
เชื้อโรคที่ทำให้น้องหมาน้องแมวท้องเสียมีทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งเชื้อแต่ละชนิดจะสร้างความรุนแรงของอาการท้องเสียแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- เชื้อกลุ่มแบคทีเรีย เช่น อีโคไลและซัลโมเนลล่า จะพบเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียในหมาแมวได้บ่อย เชื้อมักปนเปื้อนมากับอาหารค้างคืนหรือของเน่าเสีย หากสัตว์เลี้ยงกินเข้าไปในปริมาณมากพอก็เป็นสาเหตุของการท้องเสียได้
- เชื้อกลุ่มไวรัส มักทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการท้องเสียที่รุนแรงกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคลำไส้อักเสบในสุนัขหรือโรคพาร์โวไวรัส ที่ทำให้สุนัขถ่ายเหลวอย่างรุนแรงและมีเลือดปน โรคไข้หัดสุนัขก็เช่นกัน มักทำให้ท้องเสียแบบเรื้อรัง ส่วนในแมวอาการถ่ายเหลวจะพบได้ในโรคไข้หัดแมว ที่ทำให้แมวอึเหลว มีสีดำและมีกลิ่นเหม็นรุนแรงรวมถึงมีเลือดปนออกมา เชื้อไวรัสไม่มียารักษา ทำได้เพียงการประคองอาการต่าง ๆ จนกระทั่งตัวสัตว์สามารถฟื้นสภาพได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ด้วยการทำวัคซีนตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แจ้งมา
- เชื้อโรคกลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ เช่น เชื้อบิดที่อาจเกิดจากการกินน้ำขังตามขอบกระถางในบริเวณบ้าน หรือโรคฉี่หนูที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและสามารถติดต่อมาสู่คนได้
*** โรคติดเชื้อต่าง ๆ ที่พูดถึงนี้เจ้าของสัตว์ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเกิดการลุกลามของโรคไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตของสัตว์ได้ ดังนั้นควรรีบพาน้องหมาน้องแมวไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจอุจจาระและให้ยารักษาที่ตรงกับโรคทันทีที่พบอาการดังกล่าว
6. ท้องเสียจากการติดพยาธิในทางเดินอาหาร
พยาธิตัวกลมหรือตัวตืดพบได้ในอาหารที่มีการปนเปื้อนไข่พยาธิเข้ามา ซึ่งถ้าปริมาณไม่มากมักทำให้สัตว์เกิดอาการเบ่งถ่ายบ่อย ๆ คล้ายกับการถ่ายไม่สุด ลักษณะของอุจจาระที่เกิดจากการติดพยาธิจะมีความเป็นก้อนในส่วนต้น แต่ช่วงท้ายของอุจจาระจะติดเละ ๆ กรณีมีพยาธิปริมาณเยอะอาจทำให้ลำไส้เกิดการอุดตันได้ และพบการสำรอกของพยาธิออกมาจากปากของสัตว์เลี้ยงได้
7. ท้องเสียจากภาวะเครียด
สัตว์เลี้ยงบางตัวเมื่อออกนอกสถานที่ เช่น พาน้องไปร้านอาบน้ำตัดขน จะพบว่าน้องมักขับถ่ายแปลกไป อุจจาระมีความเหลวมากขึ้นคล้ายกับอาการท้องเสีย สาเหตุเนื่องมาจากความเครียดกับสภาพแวดล้อมใหม่ ทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัวรุนแรงขึ้นนั่นเอง แต่อาการผิดปกติเหล่านั้นก็จะหายไปเมื่อน้องกลับมาอยู่บ้าน
8. ท้องเสียจากการได้รับสารพิษ หรือยาบางชนิด
สารพิษบางชนิด เช่น สารหนู จะทำให้มีอาการท้องเสียแบบมีเลือดปน รวมถึงวัชพืชบางชนิดก็มีลักษณะเป็นยาระบาย ซึ่งอาจทำให้สัตว์เลี้ยงสามารถถ่ายเหลวได้ การได้รับยาบางชนิดก็เช่นกัน ตัวยาจะมีผลต่อการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้นทำให้สัตว์สามารถท้องเสียได้ ดังนั้นหากลักษณะอุจจาระของน้องเปลี่ยนไปมีความเหลวมากขึ้น ให้เจ้าของลองสังเกตการกินของน้อง เช่น แอบไปเล็มหญ้ากินหรือไม่ หากไม่มั่นใจควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป
9. ท้องเสียจากโรคไต
แม้ว่าไตจะไม่เกี่ยวกับทางเดินอาหารโดยตรง แต่ในสัตว์ที่เป็นโรคไตวาย อาการอย่างนึงที่พบได้ คือ ภาวะถ่ายเหลวแบบมีสีดำปนออกมา ดังนั้นถ้าน้องเป็นไตวายเรื้อรังที่กำลังรักษาอยู่ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเฝ้าสังเกตอาการในส่วนทางเดินอาหารด้วย
10. ท้องเสียจากโรคอื่น ๆ
มีหลายโรคที่ทำให้แมวท้องเสียหรือสุนัขถ่ายเหลวได้ แต่อาจพบเจอไม่บ่อยนัก เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ภาวะตับแข็งวาย โรคลำไส้อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากไวรัส มะเร็งลำไส้ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง เป็นต้น หากน้องหมาน้องแมวมีโรคเหล่านี้อยู่ เจ้าของควรสังเกตลักษณะของอุจจาระร่วมด้วย เพื่อใช้ในการเฝ้าติดตามอาการของน้อง
8 วิธีป้องกันไม่ให้หมาแมวท้องเสีย
เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุของการท้องเสียในหมาแมวแล้ว เรามารู้จักแนวทางการป้องกันปัญหานี้กันเถอะ เพราะหมอเชื่อว่า “การป้องกันที่ดีมีค่ามากกว่าการรักษา” จะมีวิธีจัดการอะไรบ้าง ไปอ่านกันเลย
1. จัดโปรแกรมฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิให้ถูกต้อง
สำหรับโรคไวรัสบางชนิดในสัตว์เลี้ยง เช่น โรคลำไส้อักเสบในสุนัข หรือโรคไข้หัดในแมว เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่น้องจะป่วยจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของโรค การฉีดวัคซีนตามโปรแกรมที่คุณหมอแจ้งจะช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงแสดงอาการป่วยที่รุนแรงได้ การถ่ายพยาธิก็สำคัญเช่นกัน แนะนำให้ทำเป็นโปรแกรมทุก ๆ 3 เดือน เพื่อตัดวงจรของพยาธิที่จะก่อปัญหากับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวที่ชอบล่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ มาเล่นหรือกิน และเจ้าของที่นิยมให้อาหารสัตว์ประเภท BARF (เนื้อสัตว์ดิบ)
2. คลุกอาหารก่อนเปลี่ยนสูตรทุกครั้ง จะป้องกันการถ่ายเหลวได้
กรณีเจ้าของต้องการเปลี่ยนยี่ห้อหรือสูตรอาหาร อย่ารีบเปลี่ยนทันที!! เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารของสัตว์ปรับตัวไม่ทันเกิดภาวะท้องเสียได้ แนะนำให้ค่อย ๆ เปลี่ยนอาหาร โดยการคลุกอาหารเก่าและใหม่เข้าด้วยกันในอัตราส่วน 50:50 เป็นเวลา 4-5 วัน เพื่อให้ทางเดินอาหารของสัตว์เกิดการปรับตัวเข้ากับอาหารใหม่ก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารชนิดใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้เปลี่ยนอาหารบ่อย ๆ เพราะนอกจากสัตว์เลี้ยงจะมีโอกาสถ่ายเหลวแล้ว ยังอาจทำให้ลำใส้เกิดการแปรปรวนจนทำให้เกิดภาวะแพ้อาหารได้ (Food allergy)
3. จัดโปรแกรมการกินอาหารและขับถ่ายที่ตรงเวลา
หากมีการเลี้ยงสัตว์ในบ้านหรือคอนโด ควรมีตารางเวลาพาน้องออกไปวิ่งเล่นและขับถ่ายที่แน่นอนสม่ำเสมอ การมีโปรแกรมให้อาหารและขับถ่ายจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารของสัตว์ทำงานได้ดี ลดปัญหาท้องผูกหรืออาหารไม่ย่อย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการท้องเสียได้เช่นกัน
4. ให้อาหารที่มีมาตรฐานดี ๆ ลดปัญหาท้องเสียได้
การเลือกซื้ออาหารสัตว์ควรดูฉลากข้างถุงทุกครั้ง อาหารสัตว์ที่ได้รับมาตรฐานจะมีเลขทะเบียนอาหารสัตว์ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต และมีการแจ้งส่วนประกอบสำคัญของวัตถุดิบในอาหาร การเลือกซื้ออาหารที่มีข้อมูลดังกล่าว จะช่วยให้เจ้าของมั่นใจในคุณภาพการผลิต ซึ่งถูกควบคุมปัญหาสารพิษหรือการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุให้สัตว์เลี้ยงท้องเสียได้ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ซื้ออาหารแบบแบ่งขาย แม้ว่าจะเป็นยี่ห้อที่ได้รับมาตรฐานก็ตาม เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการเสื่อมคุณภาพได้
5. ควรเก็บถุงอาหารที่เปิดแล้วให้เหมาะสม
อาหารสำเร็จเมื่อเปิดปากถุงแล้ว มักพบว่ากลิ่นจะค่อย ๆ ลดลงไป ทำให้ความน่ากินของอาหารต่ำลง ดังนั้นแนะนำกรณีเจ้าของซื้ออาหารถุงเล็ก (น้อยกว่า 5 กิโลกรัม) เมื่อเปิดปากถุงแล้วให้ตักอาหารส่วนที่เหลือออกใส่กล่องหรือภาชนะเล็ก ๆ ที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันความชื้นและคงความน่ากินของอาหาร แต่กรณีซื้ออาหารถุงใหญ่ ต้องมีการพับปากถุงให้สนิทหรือใช้ไม้หนีบปิดปากถุง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไป รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดความชื้นและคงกลิ่นของอาหารเอาไว้ด้วย
ไม่แนะนำให้วางอาหารทิ้งไว้ในถาดอาหารสัตว์ข้ามคืน เพราะมีโอกาสที่อาหารจะเน่าเสีย และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคซึ่งเป็นสาเหตุของการท้องเสียได้ สำหรับอาหารกระป๋องหรืออาหารซอง หากน้องหมาน้องแมวกินไม่หมด ควรมีการจัดเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดเรียบร้อยและนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น
6. ระวังการเก็บกินเศษอาหารตามพื้นดิน ซึ่งมักทำให้ท้องเสียได้ง่าย
บางครั้งน้องหมาน้องแมวก็มักซุกซนชอบเลียกินของแปลก ๆ ตามพื้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาท้องเสียตามมา ดังนั้นเจ้าของจึงควรเฝ้าสังเกตการขับถ่ายของสัตว์ หากพบว่าอึน้องมีสีเปลี่ยนไป มีความเหลวมากขึ้น ควรติดตามอาการของน้องอย่างต่อเนื่อง หรือตัดสินใจพาน้องไปพบสัตว์แพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค (อ่านบทความเพิ่มเติม: แมวถ่ายเหลว สีเหลือง สีอึแมวบอกถึงสุขภาพได้ )
7. ตรวจสอบชนิดอาหาร ที่อาจทำอันตรายกับสัตว์เลี้ยง
กระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การให้หมูปิ้งพร้อมไม้เสียบ สามารถทำให้สัตว์เกิดปัญหาในระบบย่อยอาหารได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันท่อทางเดินอาหาร และในบางกรณีมีการแทงทะลุลำไส้ออกมาจนทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ การสังเกตความผิดปกติบางอย่างของสัตว์เลี้ยง เช่น หยุดกินอาหาร หน้าท้องแข็งเกร็ง หรือท่านอนขดตัว จะช่วยให้เจ้าของรับรู้ปัญหาบางอย่าง และตัดสินใจพาสัตว์มาโรงพยาบาลได้ทันท่วงที
8. ไม่ควรปล่อยให้หมาแมวท้องเสียเรื้อรัง
ถ้าสัตว์เลี้ยงถ่ายเหลวต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักพบปัญหาการหลุดลอกของผนังลำไส้ส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหาร (Villi) ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ร่างกายของสัตว์ผอมลงได้ ดังนั้นหากพบน้องหมาถ่ายเหลวหรือน้องแมวท้องเสีย มีลักษณะเหลวปนน้ำ มีสีเปลี่ยนไป หรือไม่เป็นก้อนเหมือนเดิม ควรรีบตัดสินใจพาน้องไปพบสัตวแพทย์ทันที
เพราะสาเหตุของการท้องเสียในหมาแมวมีเยอะมาก ๆ ดังนั้นหมอขอฝากเจ้าของลองสังเกตความผิดปรกติในการขับถ่าย เช่น สีของอุจจาระที่เปลี่ยนไป หรือความถี่ในการเบ่งถ่าย ยิ่งเราเห็นได้ไวเท่าไหร่ โอกาสที่น้องจะสุขภาพดีและอยู่กับเราไปนาน ๆ ก็มีมากขึ้นเท่านั้น หมอหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของ
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI:
แหล่งอ้างอิง: A Survival Guide for Dog Diarrhea
นสพ. อนรรฆ เกรียงศิริ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์