มีใครเคยเจอปัญหาเชื้อราบนผิวหนังน้องแมวบ้างมั้ยคะ ??
ลักษณะของมันสังเกตไม่ยาก น้องแมวจะมีขนร่วงเป็นวง ๆ ซึ่งหากเจ้าของนำอาการเหล่านี้ไปค้นหาในอากู๋ ก็จะมีคำแปลก ๆ โผล่ขึ้นมา นั่นคือ “Ringworm ในแมว” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเชื้อราชนิดนี้ มาจากลักษณะขอบผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อรายกตัวขึ้นมาเหมือนวงแหวนค่ะ เลยเรียกกันตรง ๆ แบบนี้นั่นเอง
Q: เชื้อราในแมวมาจากอะไรคะ แล้วน้องแมวเป็นโรคนี้ง่ายมั้ย
จริง ๆ แล้วเชื้อราในแมวติดกันไม่ง่ายค่ะ แต่ถ้าติดแล้วก็มักเจอปัญหาเป็น ๆ หาย ๆ เรียกว่าเป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้ทั้งน้องแมวและเจ้าของเลยค่ะ
เชื้อราก่อโรคจะมีด้วยกันหลัก ๆ 2 สายพันธุ์ คือ Microsporum และ Trichophyton สำหรับเราคนเลี้ยงไม่มีความจำเป็นต้องจำชื่อค่ะ แต่ให้รู้ไว้ว่าเชื้อราทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการวินิจฉัยโรคที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วเชื้อราที่พบในแมวจะเป็น Microsporum (ประมาณ 98% ในการตรวจ) และพบบริเวณผิวหนัง ขน และเล็บของน้องแมวค่ะ
Q: เชื้อราในแมวติดกันได้อย่างไรคะ แล้วติดคนด้วยมั้ย
การติดต่อกันของเชื้อราในแมวจะเกิดจากการสัมผัสกันโดยตรงกับแมวที่ป่วยหรือแมวที่เป็นพาหะ รวมถึงติดต่อผ่านการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ที่นอน ผ้า แปรงหวีขน แบตตาเลี่ยน ของเล่น ชามอาหาร เป็นต้น น้องแมวที่นอนในกรงเดียวกันจะแนวโน้มติดเชื้อราได้ง่ายกว่าน้องแมวที่แยกบริเวณนอนในบ้าน
นอกจากจะติดกันได้ระหว่างแมวด้วยกันในบ้านแล้ว เชื้อรายังสามารถติดไปยังสุนัขและคนเลี้ยงได้อีก ดังนั้นโรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน เจ้าของแมวควรระมัดระวังในการสัมผัสบริเวณต้องสงสัยว่าเป็นโรคเชื้อราในแมวค่ะ
Q: เรามีวิธีสังเกตเชื้อราบนผิวหนังอย่างไรคะ
แมวที่เป็นเชื้อราอาจพบลักษณะตั้งแต่ขนร่วงเป็นวงเล็ก ๆ มีผิวหนังลอกออกมาเป็นขลุยคล้ายสะเก็ดรังแคในคน ไปจนถึงพบขนร่วงเป็นหย่อม ๆ กระจายเป็นวงกว้างตามตัวน้องแมว
ในเบื้องต้นเจ้าของสามารถแยกความแตกต่างของโรคนี้ ด้วยการสังเกตลักษณะของผิวหนังบริเวณที่ขนร่วง ขอบของผิวหนังจะมีการยกตัวขึ้นมาคล้ายวงแหวน (Ringworm) ขนที่ติดเชื้อราบริเวณนั้นจะเปราะแตกหักง่าย และมักพบได้บริเวณศีรษะ ใบหู เท้า น้องแมวที่เป็นโรคนี้จะไม่แสดงอาการคัน ยกเว้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย หากเจ้าของต้องการสัมผัสขอบของวงแหวน อย่าใช้มือเปล่านะคะ เพราะเชื้อราสามารถติดต่อสู่คนได้
Q: ทำไมน้องแมวหายแล้วกลับมาเป็นเชื้อราซ้ำใหม่คะ
สปอร์ของเชื้อราสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 18 เดือน ดังนั้นน้องแมวที่รักษาหายจากโรคนี้แล้ว หากยังมีการสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อซึ่งอยู่ตามบริเวณของใช้ทั่วไปภายในบ้าน ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้อีก
2 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้แมวติดเชื้อรา
1. อายุของแมว
อายุที่แตกต่างกันมีผลต่อระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้นลูกแมวจึงมีโอกาสพบเชื้อราบนผิวหนังได้ง่ายกว่าแมวที่โตแล้ว เพราะลูกแมวก็เหมือนกับเด็ก ๆ ที่ร่างกายยังมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคน้อย เมื่อสัมผัสกับเชื้อราจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าแมววัยอื่น ๆ ซึ่งอาจจะได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แมวโตยังสามารถเป็นพาหะนำโรคไปยังแมวตัวอื่นภายในบ้านได้ ดังนั้นบางบ้านที่มีแมวแม่ลูกอ่อน เราจะพบลูกแมวเป็นเชื้อราตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับแม่แมวที่มีเชื้อราในขณะที่ดูดนมแม่นั่นเอง
2. ปริมาณและสปอร์ของเชื้อรา
โดยส่วนใหญ่เราจะพบทั้งเชื้อราและสปอร์กระจายอยู่ทั่วไปตามสิ่งเเวดล้อม และอยู่ติดทนนานเป็นปี ๆ เชื้อราและสปอร์เหล่านี้พบว่าสามารถขยายจำนวนเพิ่มได้อีกหากเชื้ออยู่ในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ดังนั้นเมื่อแมวมีภูมิคุ้มกันลดลงหรือมีการนำแมวเด็กเข้ามาเลี้ยง ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อราได้ง่าย
การวินิจฉัยโรคเชื้อราในแมว
วิธีการตรวจเชื้อราจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่พบ ซึ่งจะมีหลักการตรวจอยู่ด้วยกัน 2 วิธี
แบบที่ 1 การส่องด้วยไฟ Wood Lamp หรือไฟสีม่วง Ultraviolet
วิธีนี้จะใช้วินิจฉัยเชื้อรากลุ่ม Microsporum โดยเมื่อคุณหมอจะส่องไฟไปยังขนที่ร่วงเป็นวง ๆ บริเวณนั้นหากมีเชื้อราจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเรืองแสงออกมาค่ะ ในขณะที่เชื้อรากลุ่ม Trichophyton จะไม่ติดสีเรืองแสง ซึ่งต้องใช้การตรวจวินิจฉัยอีกวิธีค่ะ
แบบที่ 2 การเก็บขนตำเเหน่งที่สงสัยมาเพาะเชื้อรา
กรณีตรวจด้วยวิธีแรกไม่พบเชื้อรา คุณหมอจะขอทำการเก็บขนมาเพาะเชื้อราต่อ ซึ่งต้องใช้เวลารอผลอีกประมาณ 1-3 สัปดาห์ แต่ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถวินิจฉัยเชื้อราได้ทั้ง 2 สายพันธุ์
การรักษาโรคเชื้อราในแมว
เมื่อพบว่าน้องแมวที่บ้านติดเชื้อรา วิธีการรักษาจะมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี
การรักษาเชื้อราด้วยยาทาเฉพาะที่
การใช้ครีมทาหรือสเปรย์พ่นฆ่าเชื้อราทุกวันรวมถึงมีการใช้แชมพูยาฆ่าเชื้อรา มักเป็นวิธีนี้ที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กันในการดูแลสุขลักษณะของแมว หมอมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้ดังนี้
- สำหรับแมวขนยาวหากพบว่าติดเชื้อรา หมอแนะนำให้โกนขนทิ้งเพื่อง่ายต่อการฟอกแชมพูยา การอาบน้ำยาให้ทำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และต้องฟอกแชมพูพักทิ้งไว้ที่ผิวหนังอย่างน้อย 5-10 นาที
- ไม่ควรรีบล้างแชมพูยาเร็วจนเกินไป เพราะจะทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากยายังไม่ซึมไปยังผิวหนังที่ติดเชื้อ
- ใส่ถุงมือร่วมด้วยทุกครั้งในการทายาหรือสัมผัสตัวน้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราติดมายังคนเลี้ยง
- กรณีที่ไถขนน้องทิ้ง ให้เก็บกวาดใส่ถุงขยะ ปิดปากถุงและกำจัดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันขนที่มีสปอร์ของเชื้อราปลิวไปติดสัตว์ตัวอื่นได้อีก
- การส่งแมวไปยังร้านอาบน้ำตัดขน ให้เจ้าของแจ้งทางร้านเกี่ยวกับเชื้อราบนผิวหนัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังการสัมผัส รวมถึงมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ภายหลังการใช้งาน
การให้ยาฆ่าเชื้อรากินร่วมกันยาทาเฉพาะที่
การกินยาฆ่าเชื้อราร่วมกับยาทาหรืออาบจะช่วยฆ่าสปอร์และเชื้อราได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแพร่กระจายไปยังคนหรือสัตว์อื่น ๆ ภายในบ้าน ดังนั้นการกินยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วยจึงให้ประสิทธิภาพในการรักษาที่รวดเร็วกว่าเพียงการใช้ยาทาเฉพาะที่ สำหรับการกินยาฆ่าเชื้อราจะใช้ระยะเวลาในการกินตั้งแต่ 6 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน จากนั้นคุณหมอจะทำการเพาะเชื้อราเพื่อตรวจเช็คอีกครั้ง โดยจะทำทั้งหมด 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับบ้านที่มีแมวติดเชื้อรา
เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพที่ดี และเจ้าของไม่ต้องกังวลการกลับมาติดซ้ำของโรคเชื้อราในน้องแมว คุณหมอขอแนะนำข้อควรปฏิบัติดังนั้น
- หมั่นดูแลทำความสะอาดสิ่งของ อุปกรณ์ หวี แปรง แบตตาเลี่ยนที่ใช้ไถขน ที่นอน กรง และสิ่งแวดล้อมที่น้องแมวอาศัยอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ
- หากพบแมวในบ้านติดเชื้อรา ให้รีบแยกออกจากแมวตัวอื่นทันทีและพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อยืนยันการเป็นโรค
- กรณีที่เริ่มสงสัยว่าแมวตัวอื่นภายในบ้านติดเชื้อราเพิ่ม ให้นำแมวทั้งหมดไปตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาโรคพร้อม ๆ กัน ไม่ควรทะยอยรักษาทีละตัว เพราะสปอร์เชื้อราจะยังวนเวียนอยู่ภายในบ้าน ทำให้น้องแมวที่หายแล้วมีโอกาสรับเชื้ออีกครั้งและติดโรคซ้ำอีก
- เลือกใช้น้ำยาที่สามารถฆ่าเชื้อราและสปอร์ได้ เช่น ไฮเตอร์น้ำสำหรับฟอกผ้าสีขาว โดยจะผสมไฮเตอร์ 1 ส่วน กับน้ำอีก 9 ส่วน แช่อุปกรณ์ต่าง ๆ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง เพื่อป้องกันการตกค้างของไฮเตอร์ ที่จะทำให้เกิดการระคายผิวหนังของน้องแมว ทำความสะอาดด้วยวิธีนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ และทำต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ค่ะ หากต้องการนำน้ำยามาพ่นกรงหรือถูพื้น ให้นำแมวออกจากบริเวณนั้น ๆ ก่อน เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วจึงค่อยนำแมวกลับมาอยู่ที่เดิม
เชื้อราเมื่อเป็นแล้วหายยากค่ะ ดังนั้นการรักษาจะใช้เวลานานและอาจต่อเนื่อง 3-5 เดือน
เขียนโดย: สพ.ญ. กรกช ศิริวิบูลย์ไชยกุล