หนึ่งในกิจกรรมสุดโปรดของเหล่าบรรดาทาสแมว คงหนีไม่พ้นการถ่ายภาพเจ้านายที่บ้านไว้อวดเพื่อน ๆ ในโซเชียล ซึ่งกว่าจะได้มาแต่ละภาพนั้นก็ต้องผ่านการกดชัตเตอร์มารัว ๆ แต่กว่าจะได้ภาพที่ถูกใจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงไหม ?
บทความนี้เราจะมาแชร์
5 เคล็ดลับถ่ายภาพแมวเพื่อเรียกยอด Like
1. เลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม
- ถ้าอยากได้ภาพนิ่งให้เลือกช่วงที่น้องหลับ
เพราะจะเป็นช่วงที่น้องขยับท่าทางน้อยมาก การถ่ายภาพจะทำได้ง่าย แถมเรายังอาจได้ท่าทางที่ดูตลกและน่ารักของน้องอีกด้วย
- ถ้าอยากได้ภาพน้องแต่งองค์ทรงเครื่องสวย ๆ ให้เลือกช่วงเวลาที่น้องเพิ่งตื่นนอน
น้องจะยังมีอาการสะลึมสะลืออยู่ เพราะน้องจะไม่ค่อยรำคาญเครื่องประดับ ดังนั้นเราจะสามารถสวมใส่อะไรที่ตัวน้องรวมถึงให้แต่งตัวสวย ๆ หรือจัดท่าถ่ายน้องตามที่เราอยากให้เป็นก็ได้ เรียกว่าช่วงเวลาแบบนี้คือนาทีทองของช่างภาพเลย
- สำหรับช่วงเวลาอื่น ๆ จะเหมาะกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
เพราะแมวเป็นสัตว์ที่ตื่นตัวง่ายและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ภาพถ่ายส่วนใหญ่ที่ได้จากช่วงเวลานี้ จะเป็นโมเม้นต์น่ารักที่เกิดจากการเล่นซนของน้อง ที่สำคัญ!!! ช่างภาพต้องเน้นความไวในการกดชัตเตอร์ รวมถึงบางครั้งอาจต้องแอบถ่ายน้องไม่ให้รู้ตัว
2. มุมมองและการจับจังหวะในการถ่าย
- ภาพถ่ายที่มองเห็นดวงตาของน้องแมว
จะช่วยให้เกิดอารมณ์ร่วมของผู้รับชมได้ดี เช่น มีความสุข รู้สึกเหงา เศร้าใจจัง หรือมองเห็นความขี้อ้อนผ่านแววตา ดังนั้นหากต้องการให้ภาพดูน่าสนใจและมีความหมายต่อผู้รับชม แนะนำให้ถ่ายติดดวงตาของน้องแมวด้วย
- รูปที่ดูเป็นธรรมชาติบางครั้งน่าสนใจกว่ารูปจัดแต่งขึ้นมา
การแอบถ่ายระยะไกลตอนน้องเผลอแล้วจับจังหวะในอิริยาบทที่ชื่นชอบ จะช่วยให้ได้ภาพสะท้องมุมมองน่ารักและดูเป็นธรรมชาติของน้องในแบบที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน
- ย่อตัวถ่ายภาพในระดับเดียวกับน้อง
การย่อตัวจะช่วยให้ได้ภาพในอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ และบางครั้งอาจเป็นมุมที่แปลกตากว่าภาพของคนทั่วไป ซึ่งนิยมถ่ายภาพมุมสูงกว่าระดับตัวแมว แถมมุมย่อถ่าย ยังง่ายต่อการเรียกน้องให้หันมามองกล้องอีกด้วย
- พื้นบ้านที่มีความมันวาว
จะช่วยให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจขึ้น เพราะจะเกิดเป็นเงาของน้องสะท้อนผ่านพื้นให้เห็นเป็นอีกมิติที่ดูแล้วไม่น่าเบื่อ
ทริคเล็ก ๆ :
สำหรับใครที่ใช้มือถือถ่ายภาพน้องแมว ไม่ต้องกังวลไปว่าจะไม่ได้ภาพสวยสู้กล้องใหญ่อย่าง DSLR การเลือกใช้โหมดถ่ายภาพที่มีชื่อว่า Burst Mode ซึ่งคือการกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ หรือบางรุ่นกดปุ่มชัตเตอร์แล้วปัดซ้าย จะทำให้มือถือสามารถถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องได้
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกล้อง DSLR หรือมือถือ เราก็สามารถใช้การกดรัวชัตเตอร์เพื่อให้ได้ช็อตเด็ดของน้อง จากนั้นค่อยนำภาพมาคัดเลือกอีกครั้ง
3. มีอุปกรณ์เสริมช่วยสร้างความสนใจ เช่น ไม้ตกแมว หรือ ขนมแมวเลีย
โดยนิสัยของแมวแล้ว น้องจะชอบอะไรที่เคลื่อนไหวและมีเสียงดังก็อปแก๊ป ๆ ดังนั้นการจะให้น้องสนใจมองมาที่กล้อง เราจำเป็นต้องหาอะไรมาหลอกล่อสักหน่อย เช่น ของเล่น ขนมโปรดของน้อง หรืออาจใช้วิธีส่งเสียงเรียกชื่อ จะทำให้น้องหันมามองกล้องได้ง่ายขึ้น
4. เรื่องราวที่ดี คือตำนานเล่าขานที่ใช่
- เครื่องแต่งกาย
นอกจากเรื่องของสีสันจากการเลือกเครื่องแต่งกายให้น้องแล้ว การคิดเรื่องคอนเซ็ปท์ถ่ายภาพก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ภาพถ่ายกลายเป็นความทรงจำที่ดีได้ ดังนั้นหากอยากให้ภาพเป็นที่จดจำ ลองเลือกแต่งตัวน้องให้เข้ากับ Theme งานตามเทศกาลต่างๆ หรือตามกระแสนิยม
- การถ่ายภาพผสมแนวความคิดสร้างสรรค์
เช่น หามุมในบ้านที่ครีเอทีฟหน่อย แล้วลองจับน้องนั่งเหมือนกำลังทำอะไรให้เข้ากับพื้นที่ของมุมบ้านนั้น ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน รวมถึงอาจใช้วิธีตกแต่งฉากรอบ ๆ ตัวน้องให้ดูแปลกตาก็ช่วยสร้างเรื่องราวได้
- หลีกเลี่ยงฉากหลังรก
เพราะเมื่อมีบางอย่างที่ดึงสายตาคนมองภาพไปจากตัวน้องแมว ทำให้ภาพหยุดความน่าสนใจทันที คล้าย ๆ หนังที่พระเอกเด่นไม่สู้ตัวประกอบ เรตติ้งก็อาจจะตกได้
5. หลีกเหลี่ยงการใช้แฟลชที่มีผลต่อตาแมว
แสงแฟลชไม่ดีต่อสายตาไม่ว่าจะเป็นในการถ่ายภาพเด็กเล็กหรือสัตว์ทุกชนิด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรเลือกแสงจากธรรมชาติจะดีที่สุด นอกจากนี้เสียงที่เกิดจากการใช้แฟลชในกล้อง DSLR อาจทำให้น้องมีอาการตกใจ ซึ่งน้องจะไม่อยู่นิ่งทันทีทำให้การถ่ายภาพเป็นไปได้ยากมากขึ้น
นี่เป็นเพียงแค่เทคนิคเล็กๆ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้กับการถ่ายภาพสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้ด้วยเหมือนกัน และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ “ความอดทน” คงไม่ต้องบอกกันใช่ไหมคะ ว่ากว่าจะได้มาแต่ละภาพจะต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหน
” ภาพที่ดีมักจะมาในจังหวะที่ใช่และเวลาที่เหมาะสม “
ขอบคุณภาพประกอบสวยๆ จากเพจ : Catty Boss