สำหรับเจ้าของสุนัขหลาย ๆ ท่าน คงเคยพบเห็นอาการผิดปกติและความเจ็บป่วยต่าง ๆ ของน้องหมามาบ้าง เช่น อาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว ไอ จาม ขากเสมหะ เจ็บขา หรือแม้กระทั่งมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง แต่หมอเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะได้เจอกับอาการสุนัขถ่ายเป็นน้ำมัน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีเทาซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่บ่งชี้ว่า “ตับอ่อนของน้องหมาตัวนี้ อาจทำหน้าที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว”
ก่อนอื่นหมอขอเล่าถึงหน้าที่ของตับอ่อนให้ฟังกันก่อนนะคะ ตับอ่อนอยู่ใกล้ ๆ กับลำไส้เล็กส่วนต้น มีส่วนประกอบ 2 ส่วนคือ
1. ส่วนตับอ่อนที่ผลิตน้ำย่อย ( Exocrine pancreas )
ทั้งที่ย่อยแป้ง+น้ำตาล โปรตีนและไขมัน น้ำย่อยส่วนนี้ที่มาจากตับอ่อนจะถูกหลั่งออกมาที่ลำไส้เล็ก
2. ส่วนตับอ่อนที่ผลิตฮอร์โมน ( Endocrine pancreas )
ได้แก่ ฮอร์โมนอินซูลินและกลูคากอนที่มีผลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
โดยส่วนที่ผลิตฮอร์โมนนั้น ถ้ามีความผิดปกติไปส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน แต่ในส่วนที่ผลิตน้ำย่อยนั้น ถ้าผิดปกติไปอาจจะทำให้น้องหมามีอาการอยากอาหารมากขึ้น แต่น้ำหนักลดลง ขนร่วงบาง ผิวหนังสีเข้ม ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นน้ำมัน หรือมีอุจจาระสีเทาได้ ( steatorrhea ) ซึ่งเรียกความผิดปกตินี้ว่า Exocrine pancreatic insufficiency หรือ EPI จะเรียกแบบไทย ๆ ก็อาจจะเรียกว่า โรคที่ตับอ่อนหลั่งเอนไซม์น้อยกว่าปกติ หรือโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดตามมาจากการขาดน้ำย่อยที่ผลิตจากตับอ่อนนั่นเอง
ที่มาภาพ https://kirkwoodanimal.com/july-2020-newsletter-sources-and-treatment-of-pet-diarrhea/
สาเหตุของโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง
เกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่
พันธุกรรม
เช่น ในสายพันธุ์ German Shepherd , Chow Chows, Cavalier King Charles Spaniels, Rough-Coated Collie และ English setters
เกิดภายหลังการติดเชื้อและกระทบกระเทือนที่ตับอ่อน
แต่ความผิดปกติหลักที่มักพบว่าเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิด EPI คือ ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรังนั่นเอง อย่างไรก็ตามในหลาย ๆ ตัวอาจเกิดแบบไม่ทราบสาเหตุได้
ภาพแสดงสุนัขที่เป็นโรค EPI มีลักษณะผอม ขนร่วง ผิวหนังสีเข้ม ( Cr. สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร )
การตรวจวินิจฉัยโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง
ในส่วนของการวินิจฉัยนั้นทำได้โดยการตรวจเลือด ( Canine trypsinogen-like immunoassay (cTLI) ) ถ้าค่า cTLI มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ ก็เข้าเกณฑ์ว่าเป็น Exocrine pancreatic insufficiency หรือ EPI
แนวทางการรักษาโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง
การรักษา Exocrine pancreatic insufficiency หรือ EPI อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถประคองอาการได้ด้วยการใช้ยาร่วมกับการปรับอาหารการกินในสุนัข ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตน้องดีขึ้น และทำให้ลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับสุนัขปกติมากที่สุด
ภาพแสดงสุนัขที่เป็นโรค EPI หลังรักษาทางยาและปรับอาหารเป็นระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และขนยาวหนาใกล้เคียงปกติ ( Cr. สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร )
โดยยาหลักที่ใช้ในการรักษา คือ เอนไซม์สังเคราะห์ผง ที่ช่วยย่อยอาหารในแต่ละมื้อ ( ต้องกินตลอดชีวิต ) รวมทั้งเสริมสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็น ได้แก่ Cobalamin (vitamin B12) vitamin E และ Zinc เป็นต้นร่วมกับการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารไขมันต่ำ ไฟเบอร์ต่ำ จะทำให้อาการผิดปกติในทางเดินอาหารลดลงได้ค่ะ
เขียนโดย : สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร